CIS แนะกลยุทธ์เอาชนะ “เงินเฟ้อ” เล็งหุ้น “จีน-เวียดนาม” คริปโตมาแรง

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

Creative Investment Space แนะจัดพอร์ตการลงทุนปี 2565 มองตลาดหุ้น “จีน” ฟื้นตัวกลับ ลงทุนระยะยาว 2-3 ปีได้ จับตาตลาดในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ “เวียดนาม” ได้รับปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจทั่วโลกผ่านจุดต่ำสุด และมูลค่าสินทรัพย์ในตลาดยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ส่วนสินทรัพย์ทางเลือก “คริปโต” ตลาดผันผวนแต่ยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อได้ หากหมดความกังวลเรื่องโควิดยังมีโอกาสลงทุนในหลายตลาด

นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยมุมมองการลงทุนในปี 2565 ว่าเป็นปีที่ดีสำหรับการลงทุน นักลงทุนต้องมองหาสินทรัพย์ที่จะช่วยให้สามารถเอาชนะเงินเฟ้อระดับสูงได้ โดยวิเคราะห์ในแง่ของการประเมินมูลค่า (Valuation) สินทรัพย์ที่น่าสนใจในปี 2565 คือ ตลาดหุ้นจีน ทั้งดัชนี Shanghai Composite และ Hang Seng ภายใต้เงื่อนไขว่ารัฐบาลจีนจะต้องเริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ลง รวมถึงกระแสของสงครามการค้าและ Tech War ระหว่างรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและจีน จะไม่รุนแรงมากนัก เพราะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของจีนปรับตัวลงมาค่อนข้างมากจนหลายบริษัทมีมูลค่าหุ้นที่น่าสนใจมากในระยะยาว โดยสามารถมองการลงทุนในตลาดหุ้นจีนในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าได้

ขณะที่ตลาดหุ้นเกิดใหม่ที่น่าสนใจ คือ ตลาดหุ้นเวียดนาม ที่แม้ว่าจะปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากในปีนี้ แต่ในระยะยาวมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี อีกทั้งค่า P/E ไม่ได้สูงมากนัก โดยปัจจัยที่ต้องจับตา คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะจบลงได้เร็วหรือไม่ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทย หากสถานการณ์การเมืองไม่มีความรุนแรง และการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ รวมถึงกระแสการควบรวมกิจการและลงทุนธุรกิจใหม่ๆ น่าจะเป็นแรงดึงดูดให้ตลาดหุ้นไทยเป็นที่สนใจของต่างชาติได้ หากนักลงทุนเข้าลงทุนในจังหวะที่ระดับฐานราคาต่ำ จึงเป็นโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนการลงทุนในระดับสูง

สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ยังมีประเด็นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED น่าจะเร่งการถอนวงเงินคิวอี ให้จบเร็วขึ้น และมีความชัดเจนในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อที่จะเอาชนะกับเงินเฟ้อ จะส่งผลลบต่อหุ้นเติบโต อย่างเช่น หุ้นเทคโนโลยี ที่ปรับตัวขึ้นแรงในช่วงที่เกิดปัญหาโควิด ส่วน “ทองคำ” แม้จะถูกมองว่าเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่น่าจะเอาชนะเงินเฟ้อระดับสูงได้ แต่ในอดีตที่ผ่านมาหลังการถอนมาตรการคิวอีจะมีผลต่อค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นและกดดันราคาทองคำให้เป็นขาลงอย่างต่อเนื่องหลายปี

“โจทย์การลงทุนในปี 2565 ที่ท้าทายสำหรับนักลงทุน คือ การสร้างผลตอบแทนให้สามารถชนะเงินเฟ้อ หากอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกไม่สามารถปรับตัวลดลงได้ ซึ่งสินทรัพย์การลงทุนทั่วโลก ทั้งหุ้นเทคโนโลยี ทองคำ และสินทรัพย์ทางเลือกอย่างบิตคอยน์ มองว่าสินทรัพย์เหล่านี้จะสามารถสร้างผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อในระดับสูงได้ ส่วนสินค้าโภคภัณฑ์ยังมีความเสี่ยงที่ราคาจะปรับฐานลงจากปีนี้ที่ปรับตัวขึ้นมาในระดับสูงแล้ว”

สำหรับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ต้องจับตามอง คือ การเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด จะมีการกลายพันธุ์ใหม่ที่รักษาได้ยากกว่าเดิม ซึ่งมองว่าหากไม่มีการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่จะทำให้เศรษฐกิจโลกถึงจุดต่ำสุดในปี 2564 นี้แล้ว

นายณพวีร์ กล่าวสรุปภาพรวมการลงทุนและผลตอบแทนของสินทรัพย์การลงทุนประเภทต่างๆ ทั่วโลกในปี 2564 ว่า ยังคงเป็นปีที่ดีของการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก และสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทต่างๆ ยกเว้นทองคำ หากคำนวณจากอัตราผลตอบแทน หรือ YTD ตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบัน (13 ธันวาคม) พบว่า น้ำมันดิบ WTI สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงสุดที่ 48.29% ถัดมาคือ ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ดัชนี S&P 500 และดัชนี NASDAQ มีผลตอบแทนที่ 25.45% และ 21.28% ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นยุโรป STOXX 50 สร้างผลตอบแทนที่ 18.5% และตลาดหุ้นไทย SET Index อยู่ที่ 11.65% ส่วนตลาดหุ้นฮ่องกง Hang Seng มีผลตอบแทนติดลบที่ 11.8% และทองคำ มีผลตอบแทนติดลบที่ 6.8%

“สาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลก และสินทรัพย์การลงทุนต่างๆ สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีนั้น ส่วนหนึ่งมีผลมาจากฐานคำนวณที่ต่ำในปี 2563 ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด และในปีนี้ทุกประเทศมีการเปิดเมืองทำให้เศรษฐกิจเริ่มกลับมา ดังนั้น การลงทุนในปี 2565 จะมีฐานการคำนวณผลตอบแทนจะสูงขึ้น จึงต้องระมัดระวังหากสินทรัพย์ใดไม่สามารถรักษาอัตราการเติบโตไว้ได้ จะทำให้ผลตอบแทนการลงทุนอาจลดลงจากปีนี้ นอกจากนั้น ยังมีโจทย์ที่ท้าทาย คือ อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น ซึ่งเป็นตัวนำทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นตาม ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งขึ้น ล่าสุด แตะระดับ 6.8% ในเดือนพฤศจิกายน ถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่มากที่สุดในรอบ 40 ปี”

ทั้งนี้ สินทรัพย์ทางเลือกในต่างประเทศต่างสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีมากเช่นกัน โดยเฉพาะตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ได้แก่ ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนาม ปรับตัวขึ้นกว่า 40% ตลาดหุ้นอินเดียที่ 25% ส่วนสินทรัพย์ดิจิทัล “บิตคอยน์” สามารถสร้างผลตอบแทนสูงถึง 80% และอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้ดี คือ สินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มสินทรัพย์ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับสกุลเงิน ได้แก่ แร่เงินและแพลทินัม รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทพลังงาน สินค้าการเกษตรและวัตถุดิบต่างๆ โดยได้รับผลบวกจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นผลักดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้ปรับตัวขึ้นในระดับเลข 2 หลักทั้งหมด

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket